นานาสาระ  >> Job Tips

นั่งทำงานอย่างไรไม่ให้ปวดเมื่อย

22 มีนาคม 2554

|

เปิดอ่าน 3193

“ หนุ่มสาววัยทำงานกว่า 80% ไม่ยอมลุกจากเก้าอี้ หารู้ไม่ว่าการนั่งทำงานนานเกิน 1 ชั่วโมง โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ จะนำมาซึ่งโรคปวดเมื่อย

อาชีพที่เสี่ยงจะเป็นโรคปวดหลังมากที่สุดก็คือ นักกราฟฟิกดีไซน์ , พนักงานคีย์ข้อมูล และนักบัญชี

“ คนเหล่านี้มักจะใช้เวลานั่งอยู่ที่โต๊ะคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ เกิน 1 ชั่วโมง บางทีข้ามคืนเลยก็มี และทีแย่ไปกว่านั้นยังมีวิธีการนั่งแบบผิดลักษณะท่าทาง นอกจากนั้นยังมีการใช้เก้าอี้ไม่ตรงกับสรีระจึงทำให้เกิดอาการปวดหลังตามมา ได้ ”

การจัดสถานที่ทำงาน จะช่วยลดอาการปวดหรือความเมื่อยล้าจากการทำงานได้ สามารถทำได้ง่ายๆโดยการปรับความสูงของโต๊ะ เก้าอี้ รวมทั้งจัดวางตำแหน่งของเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สำนักงานต่างๆและเอกสาร ให้เหมาะสมแก่การใช้งานของแต่ละบุคคล

การจัดสถานที่ทำงานที่ดี

หน้าจอคอมพิวเตอร์
• ควรปรับจอภาพด้านบนสุดให้อยู่ในแนวเดียวกับระดับสายตาและแหงนทำมุมตั้งฉากกับสายตา
• ควรปรับระยะการมองเห็น พยายามหลีกเลี่ยงการเพ่งจ้องคอมพิวเตอร์ โดยการวางตำแหน่งจอให้เหมาะสม
ควรจะมีแผ่นกรองแสงเพื่อป้องกันการเสื่อมของตาด้วย

คีย์บอร์ดและเมาส์
• ควรปรับความสูงของคีย์บอร์ดเพื่อให้ไหล่สามารถผ่อนคลาย ถ้าหากแขนและข้อศอกสามารถตั้งฉากได้ก็จะทำให้ไม่เกิดอาการปวดเมื่อยบริเวณ แขนได้
• ในการใช้คีย์บอร์ดและเมาส์ควรวางมือให้อยู่ในแนวตรง ไม่กระดกหรือเอียงข้อมือมากเกินไป
• ที่วางข้อมือควรใช้เป็นที่พักฝ่ามือจากการพิมพ์งานเท่านั้น ไม่ควรใช้ที่วางข้อมือในขณะที่พิมพ์งาน และไม่ควรใช้ที่วางข้อมือที่กว้างมากเกินไป หรืออยู่ในระดับที่สูงกว่าคีย์บอร์ด เพราะอาจจะทำให้กล้ามเนื้อบริเวณแขนล้าได้
• ไม่ควรยกหัวไหล่เมื่อพิมพ์งาน ควรผ่อนคลายบริเวณบ่าและไหล่ให้มากที่สุด

โต๊ะทำงาน
• สามารถปรับระดับความสูงให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลและสามารถสอดขาเข้าไปในโต๊ะได้
• ควรนำสิ่งของบนโต๊ะทำงานที่ต้องใช้บ่อยๆมาวางไว้ใกล้ๆตัว จะทำให้ไม่ต้องเอื้อมมือไกลเกินไป
• ถ้าต้องใช้โต๊ะเขียนหนังสือ โต๊ะควรมีความสูงพอที่คอจะไม่ก้มมากเกินไปเพื่อเขียนหนังสือ

เก้าอี้
• ควรปรับระดับความสูงของเก้าอี้ เพื่อให้ขาของคุณถึงพื้น
• ระดับของหัวเข่าควรต่ำกว่าสะโพกเล็กน้อยเพื่อทำให้หลังอยู่ในแนวตรงมากขึ้น ก็จะสามารถป้องกันอาการปวดหลังได้
• ความกว้างของเก้าอี้ ต้องรองรับขาท่อนบนได้โดยที่ต้องไม่มีการกดทับบริเวณใต้ข้อพับเข่า (เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก)
• ควรมีพนักพิงเพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อหลัง (ใช้หมอนใบเล็กๆรองบริเวณหลังระดับเอวได้)
• มุมของพนักพิงควรอยู่ในแนวตรงหรือเอนไปด้านหลังเล็กน้อย
• ควรมีที่วางแขนเพื่อลดการทำงานของกล้ามเนื้อบ่า
• ควรมีที่พักเท้าเพื่อไม่ให้เท้าลอยขึ้นมาจากพื้น เมื่อปรับเบาะเรียบร้อยแล้วควรหาอะไรมารองเท้าเพื่อให้ช่วงเข่าและเท้าผ่อนคลาย
• ในกรณีที่พิมพ์โดยที่มองเอกสารด้วยควรวางเอกสารไว้ด้านซ้ายมือและควรอยู่ในแนวตั้ง
• ส่วน การทำงานที่ต้องใช้ Computer notebook เป็นระยะเวลานานควรต่อ Mouse, Keyboard หรือ จอ Monitor เพิ่มเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้งานในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง

1. ควรจะพักเพื่อบริหารร่างกายสัก 1-2 นาที ในทุกๆ 1 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกาย และกล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย พยายามหางานอย่างอื่นทำในขณะที่หยุดพัก หรือจะเดินไปเข้าห้องน้ำ ยืดเส้นยืดสายบิดตัวไปมา ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายมากขึ้น

2. ควรพักสายตา อย่างน้อย 5 นาที หลังจากที่จ้องดูหน้าจอคอมฯเป็นเวลานานๆ อาจทำให้ตาเมื่อยล้า และสายตาสั้นได้ ควรจะพักสายตาโดยหลับตา หรือมองไปบริเวณรอบๆ เป็นระยะๆ หากรู้สึกปวดตาให้มองไปบริเวณที่มีสีเขียวก็จะทำให้รู้สึกสบายตาขึ้น

3. หากรู้สึกเมื่อย ก็ให้หยุดพัก ออกไปเดินสูดอากาศข้างนอก ล้างหน้า เพื่อเพิ่มความสดชื่น อย่าฝืนนั่งทำงานต่อ เพราะจะทำให้เสียสุขภาพได้

อย่างไรก็ตามการนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ ก็อาจจะทำให้เกิดอาการปวด เมื่อย หรือ กล้ามเนื้อเกร็งได้ แม้ว่าจะมีการจัดวางตำแหน่งของคอมพิวเตอร์ ปรับเก้าอี้ พนักพิง และการนั่งที่ถูกต้องแล้ว แต่การนั่งอยู่หน้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้การไหลเวียนของเลือดหยุดชะงักและทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าได้ ซึ่งการหยุดพักและผ่อนคลายเป็นวิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุดครับ

ที่มา : http://share.yotathongthin.com/index.php?topic=1947.0

Share |